เกร็ด การศึกษา ใน เวียดนาม(จบ)
โดย ทีมวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) | 3 กรกฎาคม 2549 09:16 น. |
บางเรื่องราวที่น่าสนใจของประเทศเวียดนาม ยังคงผ่านสายตา แนวคิด มุมมองของ อาจารย์สมปอง ใจดีเฉย อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์นำมาบอกเล่าเป็นเกร็ดการศึกษาในเวียดนามโดยเฉพาะในเรื่องการผลิตครูของที่นั่นกันต่อจากสัปดาห์ที่แล้ว
ในหัวข้อที่ 4 ตั้งข้อสังเกตว่า นักศึกษาของแต่ละภาควิชาจะมีโอกาสได้ฝึกทำกิจกรรมในสถานการณ์จริง ทำให้พวกเขาได้รับประสบการณ์ตรงมากมาย ได้แบ่งปันประสบการณ์ ได้ฝันฝ่าอุปสรรค และค้นพบความสามารถ ความสนใจของพวกเขาเอง โดยเฉพาะการเตรียมตัวสำหรับชีวิตในอนาคต สำหรับกิจกรรมที่พวกเขาได้ฝึกประสบการณ์ ได้แก่ การสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ การฝึกทำงานวิจัยอย่างเข้มข้น และการฝึกความเป็นผู้นำ ดังนั้น นักศึกษาเวียดนามจึงได้ผ่านกระบวนการฝึกและการตัดสินใจ รวมทั้งจิตสำนึกสาธารณะ ผ่านการทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ และปัจจัยเหล่านี้เองอาจเป็นเหตุผลให้เด็กไทยต่างจากเด็กเวียดนามก็เป็นได้
5.ในแต่ละปีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม จะรับนักศึกษาวิชาชีพครูเพียงเอกละ 15 คน/ปีเท่านั้น และสิ่งนี้เองที่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การผลิตนักศึกษาวิชาชีพครูเป็นไปอย่างเข้มข้น และสามารถคัดเลือกเด็กที่ต้องการมาเรียนครูได้อย่างแท้จริง ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ค่านิยมของสังคมไทยยังไม่เห็นความสำคัญของวิชาชีพครู โดยเด็กส่วนใหญ่ที่เข้าเรียนในคณะวิชาอื่นไม่ได้มักจะมาเรียนวิชาชีพครูแทน ทำให้ประเทศไทยเราไม่ได้ครูที่เป็นแก่นครู มีจิตวิญญาณครู และมักจะกระทำผิดจรรยาบรรณครูตามที่เป็นข่าวอยู่เสมอ ประกอบกับประเทศไทยเรามีสถาบันการผลิตครูจำนวนมาก ทำให้นักศึกษาที่จบการศึกษาด้านวิชาชีพครูมีมากแต่ตำแหน่งบรรจุมีจำนวนจำกัด รวมทั้งมาตรฐานและคุณภาพของแต่ละสถาบันก็แตกต่างกัน เป็นผลให้นักศึกษาวิชาชีพครูต้องตกงานหรือทำงานไม่ตรงกับปริญญาที่ได้รับเป็นจำนวนมาก
สำหรับประเทศไทย การผลิตครูโดยให้ทุนกับเด็กๆ ( ครู 5 ปี) เป็นวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องและได้ผลจริงหรือ ? เด็กเหล่านั้นต้องการเป็นครูจริงหรือ?หรือเพียงแต่ว่าขอให้มีทุนเรียนและมีอาชีพรองรับเท่านั้น? อาจารย์ผู้สอนพวกเขาคงจะตอบได้ในเบื้องต้น...
6.สถาบันการศึกษา/มหาวิทยาลัยในเวียดนาม เช่นมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนาม มักจะทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมากมาย ทั้งนี้เพื่อส่งบุคลากรของตนเองไปศึกษาดูงานและทำวิจัยร่วมกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน ตลอดจนนำความรู้ใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาการศึกษาให้เหมาะกับบริบทของประเทศตนเอง รวมทั้งยังมีโปรแกรมการพัฒนาอบรมครูทั้งระยะสั้นและระยะยาวมากมาย
7.ประเทศเวียดนามมีโรงเรียนสอนเด็กที่มีความสามารถพิเศษ Gifted School ในด้านต่างๆ เช่นคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และวิทยาศาสตร์ กระจายอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่เยาวชนเวียดนามจะคว้าแชมป์และเข้ารอบลึกๆ ของการแข่งขันความสามารถทางวิชาการในระดับเอเชียและระดับโลก เช่นการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ROBOT CONTEST ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปี 2004 ซึ่งมีเยาวชนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมแข่งขันมากมาย และผลการแข่งขัน พบว่า เยาวชนเวียดนามเป็นผู้คว้าชัยชนะการแข่งขันเหนือจากประเทศจีนและญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียด้วยกัน นอกจากนี้ผลการแข่งขันความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ของเยาวชนเวียดนามก็จัดว่าอยู่ในระดับแถวหน้าของเอเชียเช่นกัน
ถ้าเราหันกลับมาพิจารณาในประเทศไทยของเราบ้าง จะพบว่า มีโรงเรียนสอนเด็กที่มีความสามารถพิเศษกี่แห่ง ? เด็กๆ ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการต่างๆ ของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชน หลังจากที่จบการศึกษาไปแล้วมีบทบาทต่อการพัฒนาทางด้านการศึกษาไทยอย่างไร? มีบทบาทต่อการพัฒนาสังคมไทยมากแค่ไหนและอย่างไร?
8. ประเทศเวียดนามปลูกฝังเยาวชนให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชาติ ความรักชาติ บุคคลสำคัญของชาติตั้งแต่ในวัยเยาว์ โดยการให้ครูพาเด็ก ๆ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาไปเข้าแถวเคารพศพ “ลุงโฮห์” (อดีตประธานาธิบดีโฮจิมินห์ บุคคลสำคัญที่ทำให้ชาวเวียดนามมีความเป็นชาติมาถึงทุกวันนี้) เปรียบเสมือนเป็นการเปิดโลกนอกรั้ว ... พาน้องไปเรียนรู้ นับเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งในการปลูกฝังความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ให้กับเยาวชน
สำหรับประเทศไทยเราก็มีคำถามที่ว่าทำอย่างไรโรงเรียนจึงจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ลักษณะนี้ได้บ้าง เพราะอย่างน้อยเยาวชนไทยที่กำลังหลงใหลวัฒนธรรมต่างชาติก็จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยได้ มิใช่ต้องไปศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยจากแกสารหรือตำราเท่านั้น และสิ่งที่น่าประทับใจอีกประการหนึ่งก็คือ การสร้างพิพิธภัณฑ์บุคคลสำคัญของชาติ เช่นพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ ที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับท่านโฮจิมินห์ตลอดชั่วชีวิตของท่าน ซึ่งประเทศไทยของเราถ้ามีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อพสกนิกรชาวไทยตั้งแต่สมัยสุโขมัยถึงรัชกาลปัจจุบันจะเป็นการดีไม่น้อย โดยรวบรวมเหตุการณ์สำคัญ และพระราชกรณียกิจต่างๆ ของแต่ละพระองค์ไว้ด้วยกัน ซึ่งสามารถจัดสร้างเป็นแห่งรวบรวมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชาติไทยให้อนุชนรุ่นหลังและชาวต่างชาติได้มาเรียนรู้
จากเรื่องราวทั้งหมดที่ผ่านการสังเกตของอาจารย์สมปอง เพียงเพราะอยากเห็นการศึกษาของไทยและการผลิตครูในประเทศไทย ได้ปรับปรุง แก้ไขในส่วนที่ต้องปรับปรุง อะไรที่ดีอยู่แล้วก็คงไว้ เพื่อให้การผลิตครูและการจัดการศึกษาไทยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ที่มา